|
ท้าวกุเวร หรือ ท่านท้าวเวสสุวัณ นั้น ส่วนมากเราจะพบเห็นในรูปลักษณ์ของยักษ์ ยืนถือกระบองยาว หรือ คทา (ไม้เท้าเป็นรูปกระบอง) กันซะส่วนใหญ่ แต่แท้ที่จริงแล้ว ยังมีรูปเคารพของท่านในรูปของชายนั่งในท่ามหาราชลีลา มีลักษณะอันโดดเด่นคือ พระอุระพลุ้ย อีกด้วย กล่าวกันว่า ผู้มีอาชีพสัปเหร่อ หรือ มีอาชีพประหารชีวิตนักโทษ มักพกพารูปท้าวเวสสุวัณ สำหรับคล้องคอเพื่อเป็นเครื่องรางของขลัง ป้องกันภัยจากวิญญาณร้ายที่จะเข้ามาเบียดเบียนในภายหลัง
ภาพลักษณ์ของท้าวกุเวรที่ปรากฎในรูปของชายพุงพลุ้ย เป็นที่เคารพนับถือในความเชื่อว่า เป็นเทพแห่งความร่ำรวย แต่ท้าวกุเวรในรูปของท้าวเวสสุวัณ ซึ่งมาในรูปของยักษ์ เป็นที่เคารพนับถือว่า เป็นเครื่องรางของขลังป้องกันภูติผีปีศาจ ในหนังสือ "เกร็ดโบราณคดีประเพณีไทย" ของ ส.พลายน้อย ได้กล่าวไว้ว่า
คนในสมัยโบราณนั้น ถ้าพูดกันถึงเรื่องรักเด็กรักลูกแล้ว ดูเขารักกันอย่างแน่นแฟ้นจริงจัง มีสิ่งไรที่ป้องกันหรือแก้ไขให้เด็กรอดพ้นจากอันตรายได้แล้ว เขาก็ทำทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้จึงเกิดธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ เกี่ยวกับทารก หรือ ความเชื่อถือในเรื่องผีสางเข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อมีการคลอดบุตรก็ต้องมียันต์ตรีนิสิงเห และทำรูปท้าวเวสสุวัณแขวนไว้ที่เปลเด็ก ถือเป็นธรรมเนียมมาช้านานทีเดียว
ด้วยเหตุที่ว่า ท้าวเวสสุวัณ เป็นนายพวกยักษ์ และ รากษส เป็นใหญ่ในบรรดาผีปีศาจทั้งหลาย จึงนิยมทำรูปท้าวเวสสุวัณแขวนไว้ที่เปลเด็ก เพื่อป้องกันปีศาจไม่ให้มารบกวนเด็ก โดยมักเขียนลงบนผ้าขาวม้า แขวนไว้ที่เปลเด็ก โดยเหตุที่เขียนลงบนผ้าขาวม้า ก็เพราะว่า ท้าวเวสสุวัณ มีพาหนะเป็นม้า จึงสมมุติว่า ผ้าขาวม้าเป็นพาหนะ "ม้า" ของท้าวเวสสุวัณ
ใน " สารานุกรมไทย " ฉบับ ราชบัณฑิตยสถาน เล่มที่ ๓ หน้า ๑๔๓๙ กล่าวถึง ท้าวกุเวร หรือ ท้าวเวสสุวัณ ไว้ว่า
กุเวร - ท้าว พระยายักษ์ผู้เป็นเจ้าแห่งขุมทรัพย์ มียักษ์ และ คุยหกะ (ยักษ์ผู้เฝ้าขุมทรัพย์) เป็นบริวาร ท้าวกุเวรนั้น ลางทีก็เรียกว่า ท้าวไวศรวัน (เวสสุวัณ) ทมิฬ เรียก กุเวร ว่า กุเปรัน ซึ่งมีเรื่องอยู่ในรามเกียรติ์ว่า เป็นพี่ต่างมารดาของทศกัณฐ์ และทศกัณฐ์ไปแย่งบุษบกของท้าวกุเวรไป ท้าวกุเวรมีรูปร่างพิการ ผิวขาว มีฟัน ๘ ซี่ และมีขาสามขา (ภาพท้าวเวสสุวัณจึงมักเขียนท่ายืนแยงแย ถือไม้กระบองยาวอยู่หว่างขา)
เมืองท้าวกุเวร ชื่อ อลกา อยู่บนเขาหิมาลัย มีสวนอุทยานอยู่ไหล่เขาแห่งหนึ่งของเขาพระสุเมรุ ชื่อว่า สวนไจตรต หรือ มนทร มีพวกกินนร และคนธรรพ์เป็นผู้รับใช้ ท้าวกุเวรเป็นโลกบาลประจำทิศเหนือ จีน เรียกว่า โต้เหวน หรือ โต้บุ๋น ญี่ปุ่น เรียก พสมอน ตามคติไทยมักเขียนภาพท้าวกุเวร ซึ่งเรียกว่า เวสสุวัณ แขวนไว้ที่เปลเด็กเป็นเครื่องคุ้มกันภัย
กล่าวสำหรับท้าวเวสสุวัณที่เป็นรูปเขียน มักเขียนท้าวเวสสุวัณหน้ายักษ์ กายพิการ ถือคทา บางครั้งเขียนให้ถือกระบองยาว มี ๓ ขา บางแห่งขาพิการ มีฟัน ๘ ซี่ สีกายขาว มีอาภรณ์มงกุฎอย่างงาม รูปเขียนเมื่อนั่งบุษบกมี ๔ กร และมีม้าขาวเป็นพาหนะด้วย
นอกจากนี้ยังมีกล่าวว่า ท้าวเวสสุวัณยังมีกายสีเขียว สัณฐานสูง ๒ คาวุต ประมาณ ๒๐๐ เส้น มีอาวุธเป็นกระบอง มีพาหนะ ช้าง ม้า รถ บางทีปราสาท อาภรณ์มงกุฎประดับรูปนาค ดำรงอิสริยศเป็นเจ้าแห่งยักษ์ มีบริวารแสนโกฏิ ถือโล่แก้ว ประพาฬ หอกทอง
ในลัทธิความเชื่อของพราหมณ์ กล่าวถึงประวัติของท้าวเวสสุวัณไว้ว่า ทรง เป็นโอรสของ พระวิศรวิสุมนี กับ นางอิทาวิทา แต่ในมหาภารตะว่า เป็นโอรสของพระปุลัสต์ ซึ่งเป็นบิดาของ พระวิศรวัส กล่าวว่า ด้วยเหตุที่ท้าวกุเวรใฝ่ใจกับท้าวมหาพรหม เป็นเหตุทำให้บิดาโกรธ จึงแบ่งภาคเป็น พระวิศวรัส หรือ มีนามหนึ่งว่า เปาลัสตยัม ซึ่งรามเกียรติ์ไทยเรียกว่า ลัสเตียน
ท้าวลัสเตียน หรือ พระวิศวรัสซึ่งเป็นภาคหนึ่งของ พระวิศรวิสุมนี นั้น ได้นางนิกษา บุตรีท้าวสุมาลีรักษา เป็นชายา มีโอรสด้วยกันคือ ทศกัณฐ์ กุมภกรรณ พิเภก และ นางสำมะนักขา ดังนั้น ท้าวกุเวร จึงเป็นพี่ชายต่างมารดา และร่วมบิดาเดียวกับทศกัณฐ์
เหตุที่ท้าวกุเวรผิดใจกับผู้เป็นพ่อ เพราะไปฝักใฝ่กับท่านท้าวมหาพรหม ซึ่งเป็นเทวดา ทำให้ผู้เป็นพ่อ คือ พระวิศรวิสุมนีโกรธ เพราะถือทิฐิว่า ตนเป็นยักษ์ ที่เป็นเทวดาต่ำศักดิ์กว่า ไม่ควรไปยุ่งกับเทวดาที่บนสวรรค์ชั้นสูงกว่า เห็นคนอื่นดีกว่าพ่อของตน ก็เลยแบ่งภาคออกไปมีเมียใหม่ ลูกใหม่ ซะเลย ที่ท้าวกุเวรมีใจฝักใฝ่กับท่านท้าวมหาพรหมนั้น เป็นเพราะท้าวกุเวรนั้น ต้องการบำเพ็ญตบะบารมี หรือ สร้างสมความดี ด้วยการเข้าฌาน และบำเพ็ญทุกรกิริยา นานนับพันปี จนท่านท้าวมหาพรหมโปรดปราน ประทานบุษบกให้ อันบุษบกนี้ หากใครได้ขึ้นไปแล้ว สามารถล่องลอยไปไหนมาไหนได้ตามต้องการ อย่างรวดเร็วทันใจ ไม่ต้องออกแรงเหาะให้เหนื่อยเปล่า ๆ
เดิมทีนั้น ท้าวกุเวรครองกรุงลงกา ซึ่งมีพระวิศกรรมเป็นผู้สร้างให้ แต่นางนิกษา ได้ยุยงให้ทศกัณฐ์ชิงกรุงลงกามาจากท้าวกุเวร ทั้งยังชิงเอาบุษบกอันพระพรหมได้ประทานแก่ท้าวกุเวรมาด้วย ดังที่ได้บอกเอาไว้แล้วว่า บุษบกนี้สามารถลอยไปไหนมาไหนได้ดังใจนึก แต่มีข้อห้ามมิให้หญิงที่ถูกสมพาส (แปลว่า การอยู่ร่วม การร่วมประเวณี) จากชาย ๓ คน นั่ง ซึ่งต่อมานางมณโฑ ได้นั่งบุษบก จึงไม่สามารถที่จะลอยไปไหนมาไหนได้อีกเลย
สำหรับนางมณโฑ ที่แต่เดิมเป็นนางฟ้า ที่พระอิศวรประทานให้กับทศกัณฐ์ ต้องกลายมาเป็นหญิงสามผัว ด้วยเหตุที่ว่า เมื่อทศกัณฐ์ได้รับตัวนางมณโฑจากพระอิศวรมาแล้ว ก็อุ้มพานางเหาะกลับมายังกรุงลงกา ขณะที่เหาะข้ามมาระหว่างทาง ได้เหาะข้ามเมืองขีดขิน ซึ่งมี "พาลี" เป็นเจ้าเมือง พาลีโกรธ ที่ทศกัณฐ์บังอาจ อุ้มหญิงสาวเหาะข้ามหัว โดยไม่เกรงใจ จึงเหาะขึ้นไปรบกับทศกัณฐ์ ทศกัณฐ์สู้ไม่ได้ เพราะพาลีได้รับพรจากพระอิศวรว่า หากรบด้วยผู้ใด ศัตรูผู้นั้นจะมีกำลังลดลงครึ่งหนึ่ง หรือมีความสามารถลดน้อยกว่าเดิมครึ่งหนึ่ง เมื่อทศกัณฐ์เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ จึงถูกพาลีแย่งชิงเอานางมณโฑไปเป็นมเหสี
ต่อมา เมื่อพาลีคืนนางมณโฑให้กับทศกัณฐ์แล้ว เมื่อตอนที่หุงน้ำทิพย์ "หนุมาน" ได้เข้าไปทำลายพิธี โดยปลอมตัวเป็นทศกัณฐ์ แล้วร่วมสังวาสกับนางมณโฑ นางมณโฑ จึงเป็นหญิงที่ผ่านการสมพาสชายมาถึง ๓ คน คือ พาลี ทศกัณฐ์ และ หนุมาน เมื่อทศกัณฐ์ให้นางมณโฑขึ้นนั่งบุษบกนี้ทีหลัง บุษบกก็เกิดการขัดข้องทางเทคนิค ไม่ลอยไปไหนมาไหนตามต้องการเหมือนเก่า ด้วยประการฉะนี้
ครั้นเมื่อท้าวกุเวรต้องเสียกรุงลงกาไปแล้ว ท้าวมหาพรหมท่านก็สร้างนครให้ใหม่ ชื่อ "อลกา" หรือ "ประภา" อันตั้งอยู่ที่เขาหิมาลัย มีสวนชื่อ "เจตรรถ" อยู่บนเขามันทรคีรี อันเป็นกิ่งแห่งเขาพระสุเมรุ บ้างก็ว่า ท้าวกุเวร อยู่ที่เขาไกรลาส ซึ่งพระวิษณุกรรมเป็นผู้สร้างให้
อย่างไรก็ตาม ในทางพระพุทธศาสนา ในพระสูตรที่ชื่อว่า "อาฏานาฏิยะ" กล่าวว่า ท้าวกุเวร ตั้งเมืองอยู่ในอากาศ ข้างทิศที่อุตรกุรุทวีป (เหนือ) และเขาพระสุเมรุยอดสุทัศน์ (ที่เป็นผาทอง) ตั้งอยู่ มีราชธานี ๒ ชื่อ คือ อาลกมันทา และ วิสาณา มีนครอีก ๘ นคร
ท้าวกุเวร หรือ ท้าวเวสสุวัณ นั้น ยังมีชื่ออีกหลายชื่อ เช่น ธนบดี หมายถึง ผู้เป็นใหญ่ในทรัพย์ ธเนศวร หมายถึง ผู้เป็นเจ้าแห่งทรัพย์ อิจฉาวสุ หมายถึง มั่งมีได้ตามใจ ยักษ์ราชหมายถึง เจ้าแห่งยักษ์ มยุราช หมายถึง เป็นเจ้าแห่งกินนร รากษเสนทร์ หมายถึง ผู้เป็นใหญ่ในพวกรากษส ส่วนในเรื่องรามเกียรติ์ เรียกท้าวเวสสุวัณว่า ท้าวกุเรปัน
สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ยังกล่าวไว้อีกว่า ท้าวกุเวรนี้ สถิตอยู่ยอดเขายุคนธรอีสานราชธานี มีสระโกธาณีใหญ่ ๑ สระ ชื่อ ธรณี กว้าง ๕๐ โยชน์ ในน้ำ ดารดาษไปด้วยประทุมชาติ และคลาคล่ำไปด้วยหมู่สัตว์น้ำต่างพรรณ ขอบสระมีมณฑป ชื่อ ภคลวดี กว้างใหญ่ ๑๒ โยชน์ สำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ปกคลุมด้วยเครือเถาภควดีลดาวัลย์ ซึ่งมีดอกออกสะพรั่งห้อยย้อยเป็นพวงพู ณ สถานที่นี้ เป็นสโมสรสถานของเหล่ายักษ์บริวาร และยังมีนครสำหรับเป็นที่แปรเทพยสถานอีก ๑๐ แห่ง
ท้าวกุเวรมียักษ์เป็นเสนาบดี ๓๒ ตน ยักษ์รักษาพระนคร ๑๒ ตน ยักษ์เฝ้าประตูนิเวศ ๑๒ ตน ยักษ์ที่เป็นทาส ๙ ตน ในทางพระพุทธศาสนา ได้กล่าวถึงอดีตชาติของท้าวกุเวร เอาไว้ว่า
ในสมัยที่โลกยังว่างจากพระพุทธศาสนา ไม่มี พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จอุบัตินั้น มีพราหมณ์ผู้หนึ่งนามว่า กุเวร เป็นคนใจดีมีเมตตากรุณา ประกอบสัมมาชีพด้วยการทำไร่อ้อย นำต้นอ้อยตัดใส่ลงไปในหีบยนต์ แล้วบีบน้ำอ้อยขายเลี้ยงชีวิตตนและบุตรภรรยา ต่อมากิจการเจริญขึ้นจนเป็นเจ้าของหีบยนต์สำหรับบีบน้ำอ้อยถึง ๗ เครื่อง จึงสร้างที่พักสำหรับคนเดินทาง และบริจาคน้ำอ้อยจากหีบยนต์เครื่องหนึ่ง ซึ่งมีประมาณน้ำอ้อยมากกว่าหีบยนต์เครื่องอื่น ๆ ให้เป็นทานแก่คนเดินผ่านไปมาจนตลอดอายุขัย
ด้วยอำนาจแห่งบุญกุศลที่บริจาคน้ำอ้อยให้เป็นทานนั้น ทำให้กุเวรได้ไปอุบัติเป็นเทพบุตรบนสวรรค์ชั้น จาตุมหาราชิกา มีนามว่า "กุเวรเทพบุตร" ต่อมากุเวรเทพบุตรได้เทวาภิเษกเป็นผู้ปกครองดูแลพระนครด้านทิศเหนือ จึงได้มีพระนามว่า "ท้าวเวสสุวัณ"
ตามหลักฐานในคัมภีร์ทางพุทธศาสนายืนยันว่า "ท้าวกุเวร" หรือ "ท้าวเวสสุวัณ" เทวราชพระองค์นี้ ได้สำเร็จเป็น พระอริยบุคคลชั้นโสดาบันเมื่อครั้ง "จุลสุภัททะ ปริพาชก" เกิดความสงสัยในความเป็นมาแห่ง องค์สมเด็จพระพุทธเจ้า
ท่าน "ท้าวเวสสุวัณ" องค์นี้แหละ ที่ได้เสด็จไปร่วมต้อนรับด้วย และยัง เป็น ประจักษ์พยานเรื่องพระมหาโมคคัลลานะใช้เท้าจิกพื้นไพชยนตวิมาน ของพระอินทร์จนเกิดการ สั่นสะเทือนไป ทั้งดาวดึงส์เทวโลก อันเป็นการเตือนสติสักกะเทวราชอีกด้วย
และก็เชื่อกันตาม ฎีกามาลัยเทวสูตรว่า "คทาวุธ" ของ "ท้าวเวสสุวัณ" นั้น เป็นยอดศัสตราวุธ มีอานุภาพสามารถทำลายโลกใบนี้ให้เป็น จุณวิจุณภายในพริบตา
เป็นไงครับ อ่านเรื่องราว ประวัติความเป็นมาของท่านท้าวกุเวร หรือ ท่านท้าวเวสสุวัณ ที่ผมได้รวบรวม เรียบเรียงมาให้อ่าน จากบรรดาคัมภรี์ต่าง ๆ และ ความคิดเห็นต่าง ๆ จากผู้รู้หลายท่านแล้ว จะเห็นได้ว่า ท้าวกุเวร หรือ ท้าวเวสสุวัณนั้น ท่านเป็นเทพที่สำคัญยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่ง ที่พิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนา ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าท่านท้าวสักกะเทวราช หรือ พระอินทร์เลยทีเดียว
จะเห็นได้ว่า ตามวัดวาอารามต่าง ๆ จะมีรูปปั้นยักษ์ ๑ ตน บ้าง ๒ ตนบ้าง ยืนถือกระบองค้ำพื้น ในท่ายืนแยงแย ส่วนมากจะมี ๒ ตน เฝ้าอยู่หน้าประตูโบสถ์ หรือ วิหารที่เก็บของมีค่า มีพระพุทธรูป และโบราณสมบัติล้ำค่าของทางวัดบรรจุอยู่ ด้านละ ๑ ตน หรือไม่ก็บริเวณลานวัด หรือที่ที่มีคนผ่านไปมาแล้วเห็นโดยง่าย บ้างก็สร้างเอาไว้ในวิหาร หรือ ศาลาโดยเฉพาะก็มี ซึ่งยักษ์เหล่านั้น ถ้าเป็นตนเดียว ก็จะหมายถึง รูปเคารพของท้าวเวสสุวัณ ไม่ใช่อื่นไกล แต่ถ้าเป็น ๒ ตน อย่างวัดพระแก้ว หรือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ดังที่เคยเห็น เขาก็จะเขียนชื่อติดเอาไว้เลยว่า ตนหนึ่งสีเขียว มีสิบเศียร สิบหน้านั้น ไม่ใช่ อื่นไกล คือ ทศกัณฐ์ และอีกตนหนึ่ง สีขาว คือ ท้าวสหัชเดชะ
ซึ่งแม้ยักษ์ทั้งสองจะไม่ใช่ท่านท้าวเวสสุวัณ แต่ก็มีฤทธิ์อำนาจไม่น้อย และเป็นบริวารของท่านท้าวเวสสุวัณ คอยทำหน้าที่ปกปักรักษา ดูแลไม่ให้ผู้หนึ่งผู้ใด เข้ามาทำมิดีมิร้าย ทำบัดสีบัดเถลิง เกี้ยวพาราสี พรอดรักกันในวัดยามค่ำคืน หรือ เข้ามาขโมยทรัพย์สมบัติอันมีค่าของทางวัด หากผู้ใดบังอาจล่วงละเมิดล่ะก็ มีหวังช็อคซีเนราม่า เจอดี ชนิด จับไข้หัวโกร๋น หรือ รายที่มีกรรมหนัก ประเภทลอบลักเข้ามาตัดเศียรพระพุทธรูป อาจช็อคถึงตายคาวัด ก็มีให้พบเห็น เป็นข่าวบ่อยครั้งไป
สำหรับรูปปั้นยักษ์ที่เป็นรูปเคารพของท้าวเวสสุวัณนั้น หลายวัดทีเดียว ที่มีผู้คนเข้าไปสักการะ นอกจากจะคุ้มครองป้องกันอันตรายในเรื่องภูตผีปีศาจ คุณคน คุณไสย์ แล้ว ยังบนบานศาลกล่าว ขอโชคลาภ ความสำเร็จ ความร่ำรวย หลายต่อหลายรายเลยทีเดียว สำหรับวัดที่มีรูปเคารพท่านท้าวเวสสุวัณ ที่ศักดิ์สิทธิ์ และขึ้นชื่อลือชาในอดีต ก็เห็นจะมีวัดเกตุมวดี จ.สมุทรสาคร, วัดดอน ยานนาวา กทม., วัดท่าพระ ฝั่งธนบุรี,วัดด่านสำโรง จ.สมุทรปราการ ฯลฯ และที่ฮือฮากันมากเมื่อเร็ว ๆ นี้ เห็นจะเป็นข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์ ที่มีผู้พบเห็นแสงสว่างเรือง เหมือนสปอร์ตไลท์ ออกมาจากดวงตารูปเคารพของท้าวเวสสุวัณที่อยู่หน้าโบสถ์ ของวัดไผ่ล้อม จ.นครปฐม
ในส่วนที่สร้างเป็นเครื่องรางของขลัง เป็นรูปเคารพท่าน ที่สามารถพกพาติดตัวได้นั้น ถ้าถือเอาความนิยมเป็นอันดับหนึ่งของวงการพระเครื่อง ที่มีการเช่าหาแลกเปลี่ยนกันในมูลค่าหลักหมื่นต้น ๆ แล้วล่ะก็ ต้องยกให้รูปหล่อท้าวเวสสุวัณ ของ พระศรีสัจจญาณมุนี (สนธิ์) วัดสุทัศน์เทพวราราม ที่ท่านได้สร้างตามวาระต่าง ๆ ด้วยกันถึง ๔ ครั้ง คือ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ , พ.ศ. ๒๔๘๓, พ.ศ. ๒๔๘๕ และ พ.ศ. ๒๔๙๓ ล้วนได้รับความนิยม และเช่าหากันทุกรุ่น ทุกแบบพิมพ์ ไม่ต่ำกว่าหลักหมื่นด้วยกันทั้งนั้น หากท่านจะเช่าหาล่ะก็ ต้องระวังให้มากสักหน่อย เพราะของปลอม ของเลียนแบบมีเยอะมาก
นอกจากของเจ้าคุณศรี (สนธิ์) แล้ว ยังมีของ พระครูใบฎีกาเกลี้ยง วัดสุทัศน์ ท่านสร้างเป็นเนื้อผงพุทธคุณ สนนราคาเช่าหาไม่แพง อยู่ในหลักพันต้น ๆ แต่ของหาไม่ค่อยได้ ใครมีก็มักจะหวงยิ่งกว่าของเจ้าคุณศรี (สนธิ์) ซะอีก เพราะองค์นี้เป็นอาจารย์องค์หนึ่งของท่าน เป็นศิษย์ร่วมอาจารย์เดียวกับ สมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศน์ ปรมาจารย์การสร้างพระกริ่งที่ลือลั่น มีสนนราคาเช่าหาหลักแสนขึ้นไปเกือบทุกรุ่น ทุกพิมพ์
สำหรับวัดสุทัศน์นั้น ก็มีการสร้างรุ่นใหม่ออกมาเรื่อย ๆ อย่างรุ่นล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๐ ชื่อรุ่น ?เทพคุ้มครอง? ก็ได้รับความนิยมจากสาธุชนไม่น้อยเหมือนกัน ส่วนวัดอื่นที่แพร่หลาย และพอเชื่อถือได้ ก็มีของ วัดเกตุม ฯ สมุทรสาคร รุ่นเก่า ๆ นะครับ, ของ หลวงปู่เลี่ยม วัดศรีเรืองบุญ, หลวงพ่อลี วัดอโศการาม สมุทรปราการ, หลวงพ่อมี วัดมารวิชัย อยุธยา, หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี, หลวงพ่อกึ๋น วัดดอน ยานนาวา กทม., หลวงปู่โง่น โสรโย วัดพระพุทธบาทเขารวก พิจิตร,หลวงปู่พรหมมา วัดถ้ำสวนหิน อุบลราชธานี, หลวงปู่พูล วัดไผ่ล้อม จ.นครปฐม ฯลฯ
อีกแห่งหนึ่ง ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีการสร้างรูปเคารพของท่านท้าวเวสสุวัณ เป็นรูปชายพุงพลุ้ย หรือ เป็นรูปท้าวกุเวร เทพเจ้าแห่งโชคลาภ โดยเรียกขานวัตถุมงคลที่สร้างว่า ?ดวงตราพระธนบดีศรีธรรมราช?ซึ่งเป็นวัตถุมงคลที่มีรูปแบบเดียวกับองค์ท้าวจตุคามรามเทพ
ในยุคปัจจุบันมีพระเกจิอาจารย์รุ่นใหม่ สร้างรูปท่านท้าวเวสสุวัณ หลายวัดด้วยกัน เช่น หลวงปู่คีย์ วัดศรีลำยอง จ.สุรินทร์, หลวงพ่ออิฏฐ์ วัดจุฬามณี ซึ่งเป็นศิษย์สืบทอดพุทธาคมจากหลวงพ่อเนื่อง, หลวงปู่เหลือ วัดท่าไม้เหนือ อุตรดิตถ์, หลวงปู่หมุน วัดบ้านจาน ศรีสะเกษ ฯลฯ ส่วนจะเข้มขลัง เชื่อถือได้แค่ไหน ประสบการณ์ของผู้ใช้เท่านั้นที่จะบอกได้
พระเกจิอาจารย์ยุคเก่า หลายสำนัก แม้จะไม่สร้างรูปท่านท้าวเวสสุวัณ สำหรับบูชาติดตัว แต่ท่านก็นำรูปท่านท้าวเวสสุวัณ มาทำเป็น ?ด้ามมีดหมอ? หรือ ?มีดเทพศาสตราวุธ? อย่างเช่น หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ นครสวรรค์, พระอาจารย์เอียด วัดดอนศาลา พัทลุง, และ หลวงพ่อสุด วัดกาหลง สมุทรสาคร
ส่วนพระอาจารย์รุ่นใหม่ ที่เห็นท่านสร้างมีดหมอ หรือ พระขรรค์ ด้ามเป็นรูปท้าวเวสสุวัณ ก็คือ หลวงพ่อขวัญ วัดบ้านไร พิจิตร, หลวงปู่คีย์ วัดศรีลำยอง จ.สุรินทร์ เป็นต้น
ในคัมภีร์โบราณ ได้กล่าวไว้ว่าผู้ใดหวังความเจริญในลาภยศ ทรัพย์สินเงินทอง อำนาจวาสนา ให้บูชารูปท้าวเวสสุวรรณ หรือ ท้าวกุเวร ด้วยพระคาถานี้
คาถาบูชาท้าวเวสสุวรรณ หรือ ท้าวกุเวร
อิติปิโสภะคะวา ยมมะราชาโนท้าวเวสสุวรรณโณ
มรณังสุขัง อะหังสุคะโตนะโมพุทธายะ
ท้าวเวสสุวรรณโณ จตุมหาราชิกายักขะพันตา ภัทภูริโต
เวสสะ พุสะ พุทธัง อะระหัง พุทโธ ท้าวเวสสุวรรณโณนะโมพุทธายะ
การอัญเชิญท้าวเวสสุวัณเข้าสู่บ้าน
หากจะนำภาพท้าวเวสสุวัณก็ดี รูปหล่อ รูปบูชาหรือรูปหล่อขนาดเล็กห้อยคอ รวมไปถึงเหรียญ เมื่อจะนำเข้าบ้านให้หันหน้าไปทางทิศเหนือ ตั้งจิตให้สงบ นึกถึงองค์ท้าวเวสสุวัณอธิษฐานเชิญท่านเข้าบ้าน นึกถึงภาวนาในใจ บอกเจ้าที่เจ้าทางแล้วขอบารมีท้าวเวสสุวัณ ให้คุ้มครองตนเองและบริวาร ให้เจริญรุ่งเรืองอยู่เย็นเป็นสุข จากนั้นเชิญท่านขึ้นสู่ที่ตั้งบูชา ให้องค์ท่านต่ำลงมาจากพระพุทธรูป และพระอริยสงฆ์ อย่างพระสีวลี พระสังกัจจาย์ หรือสมเด็จพุฒาจารย์ โต เล็กน้อย อย่าตั้งเสมอเด็ดขาด จากนั้นพึงกล่าวคาถาบูชาองค์ท่านในวันแรก เพื่อเป็นสิริมงคล ควรกล่าวพระคาถาบูชา ๙ จบ จากนั้น เจริญเมตตาภาวนาขอบารมีแห่งองค์ท่าน ในสิ่งที่ตนเองปรารถนา
การอัญเชิญท้าวเวสสุวัณติดตัวเวลาเดินทางไปไหน มาไหน
ให้นำรูปหล่อขนาดเล็กหรือเหรียญสำหรับห้อยคอนามาถืออธิษฐาน หันหน้าไปทางทิศเหนือ ตั้งจิตให้สงบ นึกถึงองค์ท้าวเวสสุวัณอธิษฐานเชิญท่านติดตัว ตั้ง นะโม ๓ จบ จากนั้นพึงกล่าวคาถาบูชาองค์ท่านให้คุ้มครองตนเอง ให้เจริญรุ่งเรือง แคล้วคลาด อันตรายจากนั้นนำรูปหล่อขนาดเล็กหรือเหรียญนั้น ห้อยคอเดินทางได้
การถวายเครื่องบวงสรวง
การบูชาท้าวเวสสุวัณ ทุกครั้งให้จุดธูป ๙ ดอกการถวายของ ได้แก่หมากพลู น้ำเปล่า ผลไม้ ๕ ชนิด ได้แก่ ส้ม ขนุน สัปปะรส ฟักทองมะพร้าวอ่อน ตามตำนาน กล่าวว่า ท้าวเวสสุวัณ ท่าน จะออกตรวจตราดูความประพฤติของคนในโลกทุกวันขึ้น ? แรม ๑๕ ค่ำ ด้วยพระองค์เองในวันดังกล่าว
แนะนำว่าให้นำดอกไม้ ธูปเทียน ประกอบผลไม้มงคล ๕ อย่าง ได้แก่ ส้ม ขนุน สัปปะรส ฟักทองมะพร้าวอ่อน น้ำเปล่า ๕ แก้ว ขึ้นบูชาในเช้าวันขึ้หรือ แรม ๑๕ ค่ำนี้ให้สมาทานรักษา ศีล ๕ ใส่บาตรพระ ทำบุญบริจาคทาน สวดมนต์ยามค่ำก่อนนอนและสวดคาถาบูชาท้าวเวสสุวัณ จากนั้นพึงขอพรจากท่านจะสำเร็จตามที่ปรารถนาทุกประการ
|