ขนมโค ขนมพื้นบ้าน ตำนานพื้นถิ่นปักษ์ใต้ เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ผ่านมามีโอกาสได้ชิม ขนมโค ในงานไหว้ครูหนังตะลุง บ้านหนังสุชาติ ทรัพย์สิน ต้องบอกว่าอร่อยมาก ติดใจในรสชาติ วันนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับขนมโค มาฝากกัน

ขนมโค ขนมพื้นบ้านชาวปักษ์ใต้ คล้ายขนมต้มขาวของคนภาคกลาง เชื่อว่าเป็นขนมโบราณที่ยังคงสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น
ขนมโคยังมีความสัมพันธ์ทางประวัติศาตร์กับพื้นที่ภาคใต้มาอย่างยาวนาน จากความเชื่อของคนพื้นถิ่นที่ว่า ขนมโค เป็นขนมมงคล ใช้บนบานศาลกล่าวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือทั้งผี-พราหมณ์-พุทธ เช่น หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด พระพิฆเณศ เป็นต้น
และคงไม่แปลกอะไร ที่ชาวบ้านจึงได้นำวัสดุท้องถิ่นมาทำเป็นขนมเพื่อบูชา แทนการใช้ขนมลาดูที่ชาวอินเดียบูชาองค์พิฆเณศ ซึ่งทางปักษ์ใต้เอง ก็มีขนมชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ขนมดู ทำจากแป้งข้าวเจ้า น้ำตาล มะพร้าว เช่นเดียวกับขนมลาดู
แต่ขนมดูนั้นยังไม่อยู่ในความรับรู้ว่า สามารถนำมาใช้บูชา บนบานองค์พิฆเณศได้หรือไม่ หรืออาจไม่เป็นที่นิยมเพราะไม่อร่อยเหมือนกับขนมโค ซึ่งได้รับความนิยมสืบต่อกันมาถึงปัจจุบันมากกว่า ทำให้ความรับรู้นั้นคลี่คลาย และลืมเลือนไป
อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ทางประวัติศาตร์ของขนมโคกับพื้นถิ่นใต้นั้นน่าจะสืบเนื่องมาจาก บริเวณคาบสมุทรภาคใต้ ในอดีตเป็นสะพานเชื่อมโยงการค้าระหว่างโลกตะวันออก(จีนเป็นหลัก)-ตะวันตก(อินเดีย อาหรับ โรมัน)
เกิดเป็นชุมชนสถานีการค้าเมืองท่าทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน บรรดาพ่อค้าจากอินเดียและจีนเดินเรือเลียบชายฝั่งมาแลกเปลี่ยนสิ่งของ ตั้งถิ่นฐาน เช่นเมืองตะโกลา (Takola) หรือตะกั่วป่า เมืองไชยา แหลมโพธิ์ สุราษฎร์ธานี ตามพรลิงค์ นครศรีธรรมราช ซิงก่อร่า สงขลา(บริเวณคาบสมุทรสทิ้งพระ)
ในการเข้ามาของพ่อค้านัก บวช(พราหมณ์-พุทธ)จากอินเดียนั้น ได้นำลัทธิ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และพุทธ เข้ามาเผยแพร่ เกิดการผสมผสานกับความเชื่อพื้นถิ่น(ผี) ความเชื่อเหล่านี้ได้ฝังหยั่งรากลึกลงบบผืนดินแห่งคาบสมุทร กลายเป็นวัฒนธรรมความเชื่อ การเคารพบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตลอดจนถึงรูปแบบพิธีกรรมเฉพาะถิ่นใต้ขึ้น เช่นการบนบานองค์พิฆเณศ ด้วยขนมโค เป็นต้น
นอกจากนี้ ขนมโค ยังมีความสัมพันธ์กับลักษณะทางภูมิศาสตร์ ในเขตพื้นที่ลุ่มปลูกข้าวและการทำตาลโตนด
ชาวปักษ์ใต้นิยมทำขนมโคไว้ทานเล่น เพราะทำได้ง่าย วันนี้ชักชวนให้ลองทำขนมโคกันค่ะ
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก
http://www.oknation.net/blog/keangdin/2011/05/22/entry-1
ก่อนอื่นนำแป้งข้าวเหนียวมาผสมกับน้ำดอกอัญชัน(เก็บเอาข้างรั้วบ้าน ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไรค่ะ)ในอัตราส่วนที่พอเหมาะคือ นวดแล้วเข้ากันพอดี เนื้อแป้งไม่แน่นเกินไป หรือไม่แฉะเกินไป ใส่เกลือ1/2 ช้อนชา เพื่อให้แป้งพอมีรสชาติ หากเป็นสมัยปู่ย่าตายาย ต้องตื่นมาโม่แป้งข้าวเหนียวแต่เช้า สมัยนี้ซื้อแป้งถุงสำเร็จ ความอร่อยอยู่ที่ความขยันในการนวดแป้งค่ะ
จากนั้นเก็บใส่ภาชนะ ปิดฝามิดชิด(ห้ามให้น้ำเข้าเด็ดขาด) แช่ตู้เย็น ๑ คืน เพื่อให้แป้งนุ่มนวล
เมื่อนำออกจากตู้เย็น นวดให้แป้งคืนตัวอีกครั้ง

หั่นน้ำตาลโตนดหรือน้ำตาลแว่น ชาวใต้เรียก น้ำผึ้งแว่น ขนาดลูกเต๋า ไม่ควรเป็นคำโต เพราะต้องใช้แป้งหนาในการหุ้มน้ำตาลแว่น ลูกโตไม่อร่อยค่ะต้องพอดีคำ

จากนั้นนำมะพร้าวขูด คลุกกับเกลือเพียงเล็กน้อย

ส่วนผสมหลักของขนมโค มีแค่นี้เองค่ะ (น้ำ+เกลือ+ดอกอัญชัน+ใบเตยฯ)
จากนั้นลงมือปั้น เป็นก้อนกลมเล็กๆพอดีคำ หากปั้นคำโต แป้งไม่สุก น้ำตาลแว่นละลาย ไส้ปริแตก ไม่สวย ไม่อร่อยค่ะ (ขนมโค ยังสอนปรัชญา เลยนะ ความพอดีๆ)

ตั้งน้ำสะอาดต้มให้เดือด ใส่ขนมโคที่ปั้นลงไป เมื่อแป้งสุก ขนมจะลอยตัวขึ้น ใช้ตะแกรงหรือกระชอนตัก พักไว้ให้สะเด็ดน้ำ

น้ำลงคลุกมะพร้าวที่เตรียมไว้ คลุกเคล้าให้ทั่ว โรยด้วยถั่วเขียวต้มสุกเล็กน้อย เป็นอันเสร็จ